สำรวจความเป็นมานาฬิกาไทย จากการมองท้องฟ้าสู่การมองนาฬิกาบนข้อมือ

นาฬิกาไทย

การใช้นาฬิกาเกิดขึ้นเมื่อผู้คนให้ความสำคัญต่อเวลา เวลามีความสำคัญก็ต่อเมื่อผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันมากขึ้น ปฏิสัมพันธ์ของผู้คนย่อมสร้างพัฒนาการของสังคมให้เจริญงอกงาม ดังนั้นพัฒนาการของการใช้นาฬิกาจึงเติบโตควบคู่ไปกับพัฒนาการของสังคมเสมอ บทความนี้จึงเชิญชวนทุกคนมาสำรวจวัฒนธรรมนาฬิกาไทย เราให้ความสำคัญกับเวลาตั้งแต่เมื่อไร? ทำไมจึงนำนาฬิกามาสวมที่ข้อมือ?

จุดเริ่มต้นวัฒนธรรมการใช้นาฬิกาไทย

สังคมไทยดั้งเดิมเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก การระบุเวลาจึงเป็นไปอย่างคร่าว ๆ คือช่วงเช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ การบอกเวลาอย่างหยาบ ๆ เช่นนี้จึงใช้เพียงความสามารถในการดูท้องฟ้า ไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือในการบอกเวลาอย่างละเอียด

การให้ความสำคัญกับเวลาในสังคมไทยเริ่มมีมากขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่มีการบัญญัติเวลากลางคืน-กลางวัน ด้วยคำว่าทุ่ม-โมง แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีการนำอุปกรณ์บอกเวลาที่แม่นยำมาใช้อย่างแพร่หลาย การบอกเวลาด้วยนาฬิกาไทยตามหลักสากลจึงเริ่มต้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ไทยมีการติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้นจึงรับอิทธิพลการนับเวลาเข้ามาใช้ และทำให้คนไทยได้รู้จักสิ่งประดิษฐ์ที่ติดสอยห้อยตามวัฒนธรรมการนับเวลาเข้ามา นั่นก็คือนาฬิกาที่สามารถบอกชั่วโมงนาทีได้อย่างแม่นยำ

จากนาฬิกาสาธารณะสู่นาฬิกาส่วนตัว

การใช้นาฬิกาในระยะแรกมักจะเป็นนาฬิกาสาธารณะในรูปแบบหอนาฬิกาหรือตู้นาฬิกาตามสถานที่ราชการ เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มมีการประดิษฐ์นาฬิกาให้เล็กลงจนสามารถพกพาได้ โดยในระยะแรกนาฬิกามีลักษณะเป็นตลับพกใส่กระเป๋าหรือมีสายห้อยไว้กับเสื้อผ้า ต่อมามีการนำนาฬิกามาผูกที่ข้อมือและถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นโดยคาดว่าไอเดียการสวมใส่นาฬิกาข้อมือได้รับความนิยมมาจากลักษณะการใช้งานด้านการทหารที่ต้องการให้อุปกรณ์ชิ้นนี้กระชับติดตัวผู้สวมใส่ ไม่มีอะไรห้อยพะรุงพะรัง ซึ่งแวดวงนาฬิกาไทยก็ได้ขานรับไอเดียนี้มาใช้เช่นกัน

นาฬิกาถูกสวมใส่บนข้อมือเมื่อเวลาสำคัญสำหรับทุกคน

นาฬิกาไทยเรือนแรกที่มีลักษณะเป็นนาฬิกาข้อมือถูกนำเข้ามาใช้ในไทยเมื่อไรไม่มีหลักฐานระบุไว้อย่างชัดเจน แต่พบว่าเริ่มมีร้านค้าชาวจีนนำเข้านาฬิกาสวิสเข้ามาขายในไทยในราว ๆ ปี พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา โดยในระยะแรกนาฬิกาข้อมือเป็นสินค้าราคาแพงสำหรับคนรวย และนอกจากจะเป็นอุปกรณ์บอกเวลาแล้วยังเป็นเครื่องประดับที่แสดงสถานะทางสังคมอีกด้วย ต่อมาเมื่อสังคมไทยมีความซับซ้อนมากขึ้น การติดต่อของผู้คนเริ่มมีความจำเป็นที่ต้องระบุเวลาให้ชัดเจน ประกอบกับอุตสาหกรรมนาฬิกาขยายตัว ทำให้นาฬิกาข้อมือมีราคาถูกลงและมีให้เลือกซื้อมากมายหลายแบบ ผู้คนในสังคมไทยทุกเทศทุกวัยจึงนิยมซื้อนาฬิกามาสวมใส่บนข้อมือของตัวเอง

นาฬิกาไม่เพียงแต่เป็นเครื่องแสดงความเจริญทางสังคมเท่านั้น แต่นาฬิกายังสามารถแสดงการเจริญเติบโตของปัจเจกบุคคลได้อีกด้วย หากผู้สวมใส่นาฬิกาไทยทุกคนลองทบทวนว่าตนเองเริ่มใช้นาฬิกาตั้งแต่เมื่อไร จะพบว่าช่วงชีวิตที่คุณเริ่มมีนาฬิกาบนข้อมือมักจะเป็นช่วงที่คุณเริ่มเป็นผู้ใหญ่ นั่นเป็นเพราะว่านาฬิกาเป็นเครื่องประดับที่แสดงถึงการเจริญเติบโตจนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเป็นทางการได้ ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์การใช้นาฬิกาจึงสามารถทำให้เรารู้จักตัวตนและพัฒนาการของคนหรือสังคมนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น